ปรับให้รอบ ชอบให้เหมาะ
พระอาจารย์คงฤทธิ์
เมษานี้ก็ขวบปีเต็ม ที่ได้ย้ายมาอยู่วัดป่าชิปท์เว็ท สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นมากที่สุดก็คือการปรับตัวอย่างไรเพื่อจะอยู่ให้ได้อย่างเป็นปกติกับอุณหภูมิที่ต่ำที่สุดที่เคยประสบมาทั้งชีวิต จึงต้องมีการเตรียมการให้พร้อม ไม่ว่าปริมาณฟืนที่จะต้องใช้ ต้องเตรียมเท่าไร การก่อไฟเตาผิงควรก่อแบบไหน ใช้ฟืนมากน้อยเพียงใด เครื่องทำความอุ่นในศาลาโรงฉันต้องปรับอุณหภูมิเท่าไรถึงจะสบายพอเหมาะและไม่สิ้นเปลืองจนเกินไป จนได้ทำสมุดบันทึกนับจำนวนฟืนว่าใช้ไปเท่าไรในแต่ละวัน เราเล่นคำเรียกว่า “logs-book”
เครื่องนุ่งหุ่มก็ต้องปรับ ต้องเตรียม เสื้อกันหนาวที่ญาติโยมเตรียมให้ ใช้ได้ดีมาก ยังต้องปรับแต่ถุงมือ ถุงเท้า เพราะเป็นส่วนที่เย็นง่ายที่สุด หนึ่งชั้นบางเวลาไม่พอช่วยให้อุ่น สองชั้นเริ่มเทอะทะหยิบจับลำบาก กระนั้นในบ้างครั้ง โดยเฉพาะในคราวที่ต้องอยู่ข้างนอกนานๆ ความหนาวก็ยังไม่หายไป ซึ่งทำให้ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ที่ชาจนเจ็บ จนต้องได้อาศัยความอุ่นจากรักแร้เพื่อไม่ให้นิ้วชานานเกินไปจนเป็น frostbite
นึกถึงวลีที่ได้เรียนจากตำราเรียนภาษานอร์เวย์ “มันไม่มีหรอกที่อากาศไม่ดี มีแต่เสื้อผ้าที่ไม่ดีเท่านั้นเอง” แต่นี่อุปกรณ์ก็หลายชั้นแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าหนาวอยู่ และอากาศยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นดีขึ้น แสดงว่าเสื้อผ้ายังปรับได้ไม่เหมาะ ปัญหาใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นจำนวนชั้นของการสวมใส่แต่ละครั้ง กว่าจะออกจากกุฏิได้ต้องสวมชั้นแล้วชั้นเล่า ใช้เวลาเกือบสิบถึงสิบห้านาที นี่ยังไม่นับเวลาที่สวมทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมแล้ว สวมรองเท้าแล้ว เพิ่งจะนึกได้ว่าลืมหยิบของบางชิ้นที่ต้องใช้ คราวนี้แหละต้องทุกลักทุเลถอดรองเท้าเพื่อกลับเข้าไปหยิบของ พร้อมกับการฝึกข่มใจ ไม่หงุดหงิด กับการที่พยายามมีสติ แต่กลับหลงลืมในเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนมันเกิดเรื่อง หากเป็นรองเท้าที่ต้องผูกสาย ยิ่งจะกระตุ้นความหงุดหงิดมากขึ้น เพราะถอดยากกว่า บางครั้งต้องใช้วิธีเดินลื่นๆ เลื่อนๆ ไปด้วยพรมเช็ดเท้ารองใต้รองเท้า เพื่อกันไม่ให้พื้นขีดข่วนเพราะหนามกันลื่นที่สวมที่พื้นรองเท้า เมื่อถึงที่หมายไม่ว่าศาลา หรือศาลาโรงครัว การจะถอดชั้นเสื้อผ้าทั้งหลายที่เพิ่งสวมมา ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายนาที
ยิ่งในวันที่หิมะตกหนา การเดินกลับกุฏิในป่า ต้องลุยย่ำไป ให้ความรู้สึกเหมือนการเดินในโคลนผสมทรายที่มีสีสวยขาวนุ่มแต่หนาวเหน็บ รองเท้าเดินหิมะพอช่วยลดการจมได้บ้าง แต่กระนั้นในบางที่ก็ยังจมไปจนเกือบถึงเข่า บ่อยครั้งที่จมจนยกเท้าไม่ขึ้นก็เลยพลอยเสียหลักล้มทิ่มไปข้างหน้า พอหิมะเริ่มเป็นน้ำแข็งก็มีปัญหาอีกแบบ เหยียบเท้าไหนต้องมีสติ ระมัดระวัง ไม่งั้นได้ลื่นก้าวยาวๆ ก้นจ้ำ ดีหน่อยที่พื้นหิมะจะนิ่ม แต่พอนานวันไปเริ่มชำนาญ ล้มจนรู้ว่าจะล้มแบบไหนจึงไม่เจ็บ เริ่มชำนาญในการล้ม
หน้าหนาวผ่านไปจนเกือบครึ่งถึงเพิ่งได้ทราบว่า ปีนี้เป็นปีที่หนาวที่สุดในรอบสิบปี อุณภูมิลดไปถึง -30 องศา ประตูหน้าต่างกุฏิบางครั้งเกิดไอน้ำเกาะและกลายเป็นน้ำแข็ง กว่าจะเปิดออกได้ต้องอาศัยความเพียรกันพอควรทีเดียว ดีที่ว่าอุณภูมิในกุฏิอบอุ่น สบาย
ในมุมของความสวยงามและสงบเย็น เมื่อหิมะเริ่มมา นกที่มีอกสีชมพูสวยชื่อว่า “dompap” ซึ่งมีแหล่งอาศัยปกติทางเหนือ จะมาให้ได้เห็นเสริมสีสันแปลกตาให้กับป่าในหิมะ ที่แทบไม่เห็นและไม่มีเสียงของสัตว์อะไรเลย เมื่อหิมะเริ่มหนาพอประมาณ สามารถเดินไปในที่บึงชุ่มน้ำในป่าได้ง่ายขึ้น รถของเทศบาลสร้างร่องทางให้ cross country ski ผ่านเข้ามาในวัด เพื่อให้คนได้ใช้ ซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ว่า หากจะต้องเดินผ่านร่องทางสกีเราต้องทำอย่างไร ในช่วงวันหยุดที่ฟ้าโปร่งแดดดีๆ ก็จะเห็นชาวบ้าน รวมทั้งเด็กตัวเล็กๆ สวมชุดหมีสดใส ก้าวขายาวๆ ไปกับสกี เลื่อนผ่านไป ไหลผ่านมา บางครั้งก็เห็นครอบครัวใช้สกีลากเลื่อนให้เด็กตัวเล็กๆ นั่งมาข้างหลัง บางทีก็เห็นคนใช้สกีเลื่อนมากับหมา ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าใช้หมาลากสกี หรือใช้สกีเลื่อนไปตามหมา คนใช้สกีก็แตกต่างกันออกไป บางคนก็ดูชำนาญ เหมือนกับปลิวไหลไปกับเส้นทาง บางคนก็เหมือนพยายามลากสกีพอให้ติดพ่วงไปกับตัว แม้ยามค่ำมืดยังได้เห็นคนมีไฟหน้าใช้สกีผ่านไปมาเป็นกลุ่มๆ ถึงเข้าใจคำกล่าวที่ว่าคนนอร์เวย์ได้ชื่อว่า “เกิดมาพร้อมกับมีสกีติดมากับเท้า” ได้ดีขึ้น
เมื่อหิมะตกหนักเพื่อนบ้านนำรถแทร็คเตอร์มาไถหิมะ เพื่อเปิดทางให้รถวิ่งเข้าวัดได้ โยมที่มาวัด เพื่อถวายอาหารก็ไม่ได้ระย่อ ไม่ว่าหิมะจะตก ถนนจะลื่น ก็ยังทำหน้าที่อุปัฏฐากไม่ให้พระเณรขัดสน พระเณรก็ออกบิณฑบาตที่เมือง Fredrikstad ทุกวันศุกร์ และได้เริ่มออกรับบาตรที่เมือง Sarpborg ทุกวันอังคาร ซึ่งต้องอาศัยแขกของวัดขับรถให้ บ่อยครั้งที่โยมจากเมือง Askim และเมือง Halden มาขับรับพระไปบิณฑบาตร และแทบทุกวัน จะมีพระออกไปยืนบิณฑบาตรที่หมู่บ้านชิปท์เว็ท ทำให้ชาวบ้านเริ่มรู้จัก ใส่บาตรให้บ้าง ขับรถมาส่งบ้าง บ้างครั้งก็พาครอบครัวมาเยี่ยมที่วัดบ้าง ญาติโยมที่ไม่ได้มาก็สั่งผักผลไม้จากร้านออนไลน์ ส่งมาให้บ้าง การเป็นอยู่ขบฉันจึงไม่เป็นเรื่องลำบากเลย
โอวาทของพระอาจารย์อมโรให้ไว้ก่อนหน้าหนาวว่า “ขอให้ทุกท่านปฏิบัติกับความหนาวอย่างระมัดระวัง” เมื่อสัญญาณว่าหน้าหนาวกำลังหมดไป ก็พอจะพูดได้ว่า หลังจากผ่านเรื่องเอกสาร และการลงทะเบียนอะไรต่างๆ ก็ผ่านได้แล้วอีกหนึ่งเปลาะ คือความหนาว ด้วยการพยามยามที่จะอาศัยกุญแจหลัก ตามคำสอนของพระอาจารย์อมโร ในการทำชีวิตให้มีความสุขในทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ นั่นคือ “การปรับตัว”
ทั้งนี้ทั้งนั้นที่ผ่านมาได้ก็เพราะอาศัยความเอื้อเฟื้อ อุปถัมภ์ อุปัฏฐาก จากหลายๆ คน หลายๆ ส่วน
แขกไปใครมา มาเยี่ยม ไปเยือน
พระอาจารย์วชิโร จากวัดสุเมธาราม ประเทศโปร์ตุเกส ได้มาอยู่กับพวกเราสองสามวันในเดือนธันวาคม เป็นครั้งแรกที่พระอาจารย์ได้มาชิปท์เว็ท ท่านได้ให้กำลังใจเพื่อให้พวกพวกเราได้พิจารณาถึงกิจที่ถูกต้องที่พวกเราควรปฏิบัติต่ออริยสัจสี่ ทุกข์ — เป็นธรรมที่พึงกำหนดรู้ (ปริญญา), สมุทัย — เป็นธรรมที่พึงละ (ปหานะ), นิโรธ — เป็นธรรมที่พึงทำให้ประจักษ์ (สัจฉิกริยา) และ มรรค — เป็นธรรมที่พึงปฏิบัติบำเพ็ญ (ภาวนา)
พระอาจารย์ฉันทปาโล จากวัดสันตจิตตาราม ประเทศอิตาลี่ ได้มาเยี่ยมหนึ่งสัปดาห์ในเดือนกลางเดือนธันวาปีที่แล้ว ช่วงที่ท่านมาท่านได้ให้เวลากับคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ ท่านยังได้สนทนาธรรมกับญาติโยมที่มาวัดด้วย พระอาจารย์ได้แสดงธรรมในคืนวันพระ — เนื้อหาหลักคือการค้นพบและพึ่งพา “การรู้จักตนเอง” (ซึ่งท่านได้ค้นพบในช่วงปีต้นๆ ของการปฏิบัติ) และท่านได้แบ่งปันกุศโลบายที่ท่านได้เคยใช้ในการฝึกจิตของท่านไม่ให้หลงไปกับจินตนาการของตัณหาอย่างกู่ไม่กลับ ขณะที่รู้สึกจริงๆ อยู่กับร่างกาย และไม่ปล่อยให้เรื่องปรุงแต่งให้เจริญขึ้นขณะที่ปลีกวิเวก มีครั้งหนึ่งพระอาจารย์ใช้วิธี “จัดการกับจิตของท่าน” — “ถ้าเราตามขบวนความคิดของความรู้สึกทางเพศนั้น จะอดข้าวในวันพรุ่งนี้!?...” มันใช้ได้ผลดีมากเลยทีเดียว
หลวงพ่อเปี๊ยก จากวัดจิตภาวนา (ฟ้าคราม) ปทุมธานี พร้อมกับคณะพระและลูกศิษย์กลุ่มเล็กๆ ได้มาเยี่ยมวัดป่าชิปท์เว็ทของเรา ในวันที่ 17 เดือนธันวาคม คณะได้เดินทางมาจากออสโล — เดินทางมาถึงในช่วงเช้า อยู่กับพวกเราจนบ่าย ช่วงเวลานี้หลวงพ่อได้แสดงธรรมให้กับศรัทธาญาติโยมที่สนใจ และได้สนทนากับพระสงฆ์และคณะญาติโยมกลุ่มเล็กๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนา การแสดงธรรมบางส่วนของท่านเน้นไปในเรื่องบุคคลจะอุทิศบุญกุศลอย่างไร หรือทำอย่างไรจะให้บุญกุศลนั้นถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้ว มีผู้สนใจเข้าฟังธรรมจำนวนมาก — เป็นวันที่มีคนมาวัดเยอะที่สุดของเราในช่วงที่ผ่านมา — ผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลายดูมีความยินดีมากที่ได้มีโอากาสได้กราบหลวงพ่อ ฟังธรรมจากท่าน และสอบถามข้อข้องใจที่มีในการปฏิบัติ
ต้นเดือนพฤศจิกายน เราได้พากันไปวัดอุบลมณี เมืองกริสมู ห่างจากเมืองบาริเกนประมาณสามชั่วโมง เป็นเวลาสามวันเพื่อกราบขอพรหลวงพ่อคำผอง (ซึ่งเป็นลูกศิษย์สายตรงอีกรูปหนึ่งของหลวงพ่อชา) ถือว่าเป็นโอกาสดีที่พวกเราได้รู้จักสถานที่ ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาที่สวยงาม และฟยอร์ด ได้เจอกับกลุ่มคนไทยและได้เผื่อแผ่บุญจากการใช้ชีวิตนักบวชของพวกเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการหล่อเลี้ยงทางจิตใจเมื่อได้เห็นศรัทธาจากหลายคนหลายท่านผู้ที่มีศรัทธาในการปฏิบัติ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้พิจารณา และทำให้เรารู้สึกรับผิดชอบต่อการกระทำของเรา — เพราะทราบว่าการกระทำของเรามีผลกระทบโดยตรงต่อญาติโยมอุปัฏฐาก ในหลายๆ ด้าน นี่เป็นเจตนาของพระพุทธองค์
กราบหลวงพ่อวัดไทย ในเดือนมกราคมคณะสงฆ์มีความยินดียิ่งที่ได้ไปวัดไทย อยู่ใกล้ๆ เมืองออสโลและกราบขอพรหลวงพ่อ หลวงพ่อเมตตาต้อนรับและสนทนาธรรมกับพวกเรา ท่านเน้นไปถึงเรื่องการเผยแพร่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สรรพสัตว์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และในวันนั้นหลวงพ่อได้เมตตานิมนต์ให้พวกเราไปร่วมงานวันคล้ายวันเกิด 72 ปีของท่าน ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ดังนั้นพระอาจารย์คงฤทธิ์ และท่านอาทิจโจ ได้กลับไปที่วัดท่านในวันที่จัดงานมุทิตาถวายหลวงพ่อที่มีพระสงฆ์จำนวนมากที่เดินมาร่วมงานจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ท่านผู้จะมา
ช่างเป็นโชคของเราที่จะมีพระมหาเถระที่น่าเคารพจะมาเยือนพวกเราในฤดูใบไม้ผลิ หลวงพ่อไหล (วัดป่าบึงทวาย สกลนคร) และพระอาจารย์จรัส (วัดเมตตาคิรี ชัยภูมิ) จะมาอยู่ที่นี่จากวันที่ 3 ถึง 14 เมษายน และพระอาจารย์กัลยาโณจากวันที่ 11 ถึง 22 เมษายน
หลังจากที่พระอาจารย์กัลยาโณเดินทางกลับ ก็จะมีพระมหาเถระอีกคณะเดินทางจากประเทศไทยมาอยู่กับพวกเรา ทั้งสองรูปเป็นลูกศิษย์สายตรงของหลวงพ่อชา ได้แก่ได้แก่ หลวงพ่อดำรงค์ (เจ้าอาวาสวัดปลื้มพัฒนา จ.บุรีรัมย์) หลวงพ่อโสภณ (เจ้าอาวาสวัดบึงลัฎฐิวัน จ.พระนครศรีอยุธยา) และจะมีพระมหาเถระติดตามมาด้วยคือหลวงพ่อสว่าง (เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวก จ.อุบลราชธานี) ผู้มีความเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ต่างชาติมาหลายปี คณะของหลวงพ่อทั้งสามจะมาถึงวัดเราในวันที่ 30 เมษายน และจะเดินทางต่อไปในวันที่ 15 พฤษภาคม
ความเรียบง่ายและรู้คุณท่าน
ท่านอาทิจโจ
ได้มาเยือนโลกุตตรในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกหลงไหลในความงดงามของสถานที่และเกิดความรู้สึกผูกพันอย่างแนบแน่นกับสถานที่แบบที่ยากจะอธิบายได้ ความผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมทันสมัยที่เรียบง่ายในป่าสแกนดิเนเวียร์ทำให้เกิดความลงตัว เพื่อการครุ่นคิดพิจารณาและการเป็นอยู่อันเรียบง่าย มันใช้ได้เลย
เมื่อกลับถึงอังกฤษจากการเยือนระยะสั้นๆ ในเดือนกันยายน อาตมาเกิดความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความทึ่งที่สถานที่เช่นนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ทางตะวันตกสายหลวงพ่อชา เพราะเหตุนี้ จึงขอใช้โอกาสในจดหมายข่าวแสดงความรู้สึกรับรู้ถึงบุญคุณของ Skogskloster buddhistsamfunn ที่ได้พัฒนาและสนับสนุนให้เกิดมีถาวรวัตถุ ขณะเดียวกัน อาตมามีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับชุมชุมชาวไทย ที่ไม่เคยบกพร่องในการอุปัฎฐากคณะสงฆ์ทั่วโลก แม้แต่ในชนบทของประเทศนอร์เวย์
ในขณะที่เตรียมตัวกลับไปวัดอมราวดีในเดือนเมษายน ก็ขอให้คณะสงฆ์และญาติโยมที่อยู่ที่นี่ จงประสบแต่สิ่งดีๆ ตลอดปี 2567 และเจริญรุ่งเรืองเพื่อประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน
ต้องตัดสินใจ
อนาคาริก อัลบี
ได้มาอยู่ที่โลกุตตรวิหารผ่านปีกว่าแล้ว กับความตั้งใจที่จะบวชเป็นพระในสายนี้ ว่าตามจริงแล้ว ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมากนักในขณะนั้น จึงเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ —เรียนรู้เกี่ยวกับวัดและเกี่ยวกับตัวเอง
ในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีที่แล้ว พระอาจารย์ชยสาโร และคณะสงฆ์ได้ประกอบพิธีเป็นอนาคาริกะ —ออกจากเรือนเป็นผู้ไม่มีเรือน ว่ากันตรงๆ แล้ว รู้สึกสับสนมานานกับความหมายของคำนี้ เพราะในความรู้สึกจริงๆ รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้มีเรือนครองในสถานที่นี้ แต่ไม่นานนักก็เข้าใจได้ว่าเราจำเป็นต้องทำงานดูแลรักษาสถานที่ เช่นผ้า ล้างถ้วยล้างจาน ทำความสะอาด หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่กับครอบครัว หรืออยู่ในวัด หรือแม้จะท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ จริงๆ แล้วคือการใช้ชีวิตที่สงัดจากชีวิตทางโลกที่ต้องสร้างครอบครัว ทำงานหาเงิน และทำงานอดิเรกต่างๆ เมื่ออาทิตย์ที่เพิ่งผ่านมา ได้ยินมาว่านักเดินเรือสำรวจชาวนอร์เวย์ได้เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ และในเรือนั้นพวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่แคบๆ กับข้อจำกัดมากมาย แต่สิ่งจำเป็นที่พวกเขาต้องการเพื่อไม่ให้สติของเขาแตกเสียไปก็คือดนตรี มิตรภาพ และไวน์ ก็ไม่เห็นหรอกว่า “หลังฉาก” ทุกท่านอยู่กันอย่างไรจริงๆ แต่แน่นอนว่า พวกเราต้องการมิตรภาพ และความผ่อนคลายเช่นกัน แต่งานของเราคือการฝึกตนเพื่อการลดละให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อความเป็นอยู่ ที่เรียบง่าย มีอิสระไม่ขึ้นกับสิ่งใด การฝึกเช่นนี้เป็นสิ่งที่พยายามปฏิบัติและเฝ้ามอง ดูความรู้สึกและความคิดที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว มันเป็นประโยนช์กับตัวฉันเองมากที่สุด
เมื่อรอบปีเวลาของการเป็นอนาคาริกะเริ่มใกล้จะหมดลง ขบวนความคิดและความรู้สึกว่าจะว่าจะเริ่ม บริบทต่อไปของตัวเองอย่างไร ซึ่งใช้เวลาสองสามอาทิตย์ถึงตัดสินใจได้ เพราะทั้งสองทางมีกำลังแรงเกือบจะเท่ากัน ด้านหนึ่งเป็นนักบวชต่อไป เดินทางไปเป็นสามเณรที่อมราวดี และอีกด้านกลับบ้านเกิดไปหาครอบครัว แล้วต่อจากนั้นจะทำอะไรต่อ ได้พยายามให้เวลากับตัวเองเพื่อคิดและรู้สึก สึกดีใจที่ได้อยู่ที่นี่นั้นเป็นเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณา กระนั้นบางครั้งก็ยังรู้สึกว่าหัวจะแตกเป็นเสี่ยง จนบางครั้งรู้สึกถึงกับปวดหัวเอาทีเดียว
ในที่สุด เมื่อได้วางผังของทั้งสองด้านอย่างดี ก็ตัดสินด้วยความรู้สึกที่ใจบอก และตั้งใจว่า กลับบ้านเพื่อไปเริ่มการศึกษาปรัชญาที่นั่น แน่ละเมื่อได้ตัดสินใจแน่แล้วก็อยากจะทำตามนั้นอย่างรวดเร็วทันที แต่เพราะคำแนะนำจากพระอาจารย์คงฤทธิ์ ก็เลยตัดสินใจอยู่เป็นอนาคาริกะต่อให้ครบปี หลังจากขบวนการคิดเหล่านี้ผ่านไปก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้อีกครั้ง
ก็ไม่ทราบว่าจะมีโอกาสได้เขียนจดหมายข่าวอย่างนี้อีกหรือเปล่า ดังนั้นก็อยากจะขอกล่าวขอบคุณอย่างยิ่งกับทุกๆ ท่าน
มิตรภาพ
สามเณร โชติปัญโญ
เราทั้งห้าคนอยู่ด้วยกันช่วงหน้าหนาวที่ประเทศนอร์เวย์มานานกว่าสองเดือนแล้ว อาตมารู้จักพระอาจารย์คงฤทธิ์มาหลายปี ความมีเมตตาและความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นของท่านจึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอาตมา การได้อยู่กับอนาคาริกะ อัลเบร็ชท์มาเกือบปี และผ่านความรู้สึกฟูแฟบมาด้วยกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของเราแนบแน่นมากยิ่งขึ้น มีพระสองรูปที่อาตมาไม่เคยรู้จักมาก่อนคือ ท่านนิปโก และ ท่านอาทิจโจ อาตมาคงไม่สามารถที่จะแสดงความขอบคุณท่านทั้งสองได้มากไปกว่านี้ ในความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติและเป็นแบบอย่างที่ดี อย่างน้อยก็สำหรับตัวอาตมาเอง แม้จะเข้าใจดีว่าพวกเราเป็นพระเณรควรจะวางเฉยกับสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นสิ่งที่ดีที่ได้มีโอกาสร่วมอยู่อาศัยกับกลุ่มผู้ปฏิบัติเยี่ยงนี้
การอาศัยอยู่ด้วยกันต้องยอมรับว่าแต่ละคนมีความแตกต่างจากกัน เรามีพื้นหลังชีวิตที่แตกต่าง (หน้าที่การงาน และสายวิชาการศึกษา) การเลี้ยงดูจากครอบครัว และวัฒนธรรมที่แตกต่าง ที่หลอมมาเป็นบุคลิคนิสัยส่วนตัว เพียงมองสิ่งเหล่านี้ ก็จะเห็นได้ว่ามันสุดยอดแค่ไหนที่พวกเราอาศัยอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีปากเสียงถกเถียงแม้เพียงครั้งเดียว
เป็นที่ทราบกันดีว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นตัวตนคือความรู้สึกแยกต่างจากผู้อื่น ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากจิตใจที่ “มีตัวตน” ตัวตนที่มาพร้อมกับการรักษาความอยู่รอดของตัวเอง ที่มักจะมองออกนอกตัว อย่างต่อเนื่อง เพื่อมองหาปัญหาที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่คุกคามการอยู่รอด ต้องการขจัดทุกสิ่งทุกคนที่อาจจะขัดขวางการเป็นอยู่มีอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ต้องกล่าวเลยว่าสิ่งนี้เป็นการเป็นไปโดยอัตโนมัติของจิต ซึ่งจะทำให้ปรากฏขึ้นมาให้เห็นได้ด้วยการมีศีลและสติที่อบรมดีแล้ว ดังนั้นจึงนับว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งที่สมาชิกของหมู่สงฆ์นี้ สามารถเห็นเล่ห์เพทุบายของจิตได้โดยไม่ติดกับดักที่วางไว้ สิ่งที่ให้เกิดความรู้สึกยินดีที่ได้อยู่ร่วมอาศัยกับท่านเหล่านี้ คือการที่ทราบว่าแม้ทุกคนจะมีบุคคลิกอันเป็นส่วนตัวของแต่ละคน กระนั้นเราก็ยังพยายามที่จะทำให้ดีที่สุดตามกำลังของเรา นั่นเองเป็นสิ่งที่เราสามารถไว้เนื้อเชื่อใจกันได้
มีเวลามากมายที่จะต่อสู้กับตัวเอง เมื่อไม่ต้องไปคอยสู้กับสหธรรมิคที่อยู่ด้วยกัน!่ ช่วงนี้อาตมามีความติดข้องกับความรู้สึกผิดและเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมาในอดีต การทำสมาธิช่วยให้รู้จักสิ่งเหล่านั้นและค่อยๆ ละความรู้สึกไม่ชอบตัวเองที่เป็นเชื้อเพลิงให้ความรู้สึกเหล่านั้น อาตมาได้เขียนบันทึกเป็นประจำทุกวัน การเขียนช่วยให้อาตมาเปลี่ยนแนวคิดที่ไม่เสริมการเกิดมีขึ้นของความสุข ขออ้างอิงคำสอนของหลวงพ่อที่อาตมาโชคดีได้มีโอกาสกราบสองสามเดือนที่ผ่านมา
“สามเณร พุทโธ พุทโธ เป็นสุข เป็นสุข!”.
หิมะและความสงัดของชิปท์เว็ท
ท่านนิปโก
นับว่าอาตมาได้รับสิทธิ์อันพิเศษที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้มาอยู่และปฏิบัติธรรมที่วัดโลกุตตรวิหาร การมาอยู่ในวัดนี้เหมือนกับการอยู่กับครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง –ให้เกิดความรู้สึกผูกพันที่ลึกซึ้งกว่าความสัมพันธ์ปกติ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงและแน่นแฟ้นจากการผ่านความรู้สึกลุ่มๆ ดอนๆ ที่ยากจะหลีกเลี่ยง และท้าทายต่อชีวิตของนักปฏิบัติ รู้สึกยินดีมากที่หมู่คณะและผู้ร่วมปฏิบัติธรรมสามารถทนต่อข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของอาตมาด้วยความรักและอดทน
ด้วยความร่วมมืออันดียิ่งของทุกๆ คนในหมู่สงฆ์ พร้อมกับการสนับสนุนที่ยากที่จะเปรียบได้จากญาติโยม (ไทย และคนท้องถิ่นชาวนอร์เวย์ และหลากหลาย) — หลายท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตรในรูปแบบการ ‘ใส่บาตร’ ตามประเพณีตลอดฤดูหนาว
การเกิดขึ้นพร้อมๆ กันของหิมะที่ตกหนักและอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์ ทั้งความเงียบ ทำให้เกิดสภาพของความสงบสงัด ควรแก่การพิจารณาภายใน ในป่าที่ล้อมรอบซึ่งเป็นสถานที่ในอุดมคติที่จะอาศัยใช้ชีวิตตรึกตระหนักในธรรม ดังนั้นจุดสนใจในช่วงฤดูหนาวคือการใช้เวลาอยู่กับตนเอง จากการที่ไม่มีกิจที่ต้องทำมาก มุ่งไปสู่การทบทวนพิจารณาสัจจะ ‘ธรรมชาติตามความเป็นจริง’ และแหล่งที่มาที่แท้จริงของความรู้สึกที่เหมือนกันว่าขาดอะไรสักอย่างในชีวิต การพิจารณาความตายเป็นหัวข้อเด่นของการพิจารณาตลอดช่วงเวลานี้
จากนั้นก็ได้ใช้เวลาฝึกบทสวดใหม่ๆ และเรียนภาษานอร์เวย์ เพิ่มขึ้น
คาถาโบราณ ใช้เพื่อดูแลสุขภาพ
พระเจ้าปเสนทิโกศลหากไม่ติดพระราชกรณียกิจอื่น พระองค์ทรงเข้าวัดวันละสามครั้ง เพื่อกราบสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า จนมีพระสูตรในคัมภีร์สังยุตนิกายถึง 25 เรื่อง มีครั้งหนึ่งพระองค์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะที่ยังอิ่มใหม่ๆ แต่เมื่อทรงนั่งกลับแสดงอาการอึดอัด กระสับกระส่าย น่าจะเป็นเพราะทรงพระอ้วน เนื่องจากเป็นผู้ที่เสวยจุ พระพุทธเจ้าได้ทรงภาษิตถวายพระคาถาแก่พระราชาว่า
“มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน ฯ” โทณปากสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ 15 ข้อที่ 364-367 —สํ.ส. (ไทย) 15/364-367
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ทรงนำพระคาถานั้นมาใช้ โดยจ้างสุทัสสนราชมาณพ ซึ่งเป็น ทส. วันละร้อยเพื่อให้จำคาถาและคอยท่องเตือนพระสติก่อนพระองค์จะเสวย ไม่นานพระองค์ก็ทรงมีพระวรกายผอมบางลง กระปรี้กระเปร่า กระชุ่มกระชวย พระองค์ได้ลูบพระวรกายของพระองค์แล้วตรัสสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าได้ทรงอนุเคราะห์พระองค์ทั้งประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า
นี่ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างว่าการศึกษาธรรมะของผู้ที่มีทั้งอำนาจ วาสนา และทรัพย์ ว่าได้ทั้งประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมจากการเข้าวัด ด้วยการนำความรู้ที่ได้ฟังมาใช้ หาได้แยกทางโลกกับทางธรรมออกจากกันแบบอย่างสิ้นเชิงว่าหากเป็นชาวบ้านอยู่ทางโลกก็ไม่ควรจะสนใจธรรมะ หากเป็นคนอยู่ในศีลในธรรมก็ไม่ควรจะเอาเรื่องเอาราวทางโลก หากคิดจะแสวงหาประโยชน์และกำไรสูงสุดให้กับชีวิต ก็ควรใช้ประสบการณ์ทางโลกมาพิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงแท้ของโลกตามธรรมะ ใช้ความรู้ทางธรรมมาทำให้ชีวิตทางโลกมีความสุขที่ปราศจากโทษให้มากขึ้น
กิจกรรมของวัด
14 เมษายน – วันสงกรานต์ (ปีใหม่ไทย)
12 พฤษภาคม – วิสาขบูชา
22-30 มิถูนายน – กรรมฐาน 9 วัน (ภาษาอังกฤษ)
20 กรกฎาคม – อาฬาหบูชา
21 กรกฎาคม – วันเข้าพรรษา
17 ตุลาคม – วันออกพรรษา (วันมหาปวารณา)