ใกล้ชิดคนแปลกหน้ายิ่งกว่าครอบครัว ผมได้มาอยู่วัดโลกุตตรวิหารเมื่อวันส่งท้ายปีเก่าปี 2022 นั่นก็หมายความว่า ผมได้มาอยู่ที่นี่ 299 วันและ 299 คืน ได้เห็นญาติโยมอุปัฐากผ่านมาแล้วไป แขกของวัดผ่านมาแล้วไป คณะสงฆ์ผ่านมาแล้วไป ผมได้อาศัยอยู่กับพระสงฆ์เป็นหมู่คณะในวัดแห่งนี้
พระอาจารย์คงฤทธิ์มาถึงเมื่อเดือนเมษา ตามมาด้วยสามเณรโชติปัญโญและพระอาจารย์ญาณทัสสโน อาชิน ชยธัมมะ มาถึงก่อนเข้าพรรษา ผมไม่เคยรู้จักท่านเหล่านี้มาก่อนเลย อยู่ๆเรามาใช้ชีวิตร่วมกันกับคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน ผมสามารถพูดได้ว่า ตอนนี้ผมอาศัยอยู่กับท่านเหล่านี้ใกล้ชิดยิ่งกว่า ตอนอยู่กับครอบครัวตัวเองเสียอีก พวกเราตื่นเวลาเดียวกัน สวดมนต์นั่งสมาธิร่วมกัน ปัดกวาดทำความสะอาดอาคารร่วมกัน นั่งและรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน ตระเตรียมและทำงานด้วยกัน ต้อนรับญาติโยมและฉันอาหารเพลร่วมกัน ช่วงนี่เรามีเวลาเป็นของตัวเองหากว่าไม่ทำงานต่อ หรือออกไปเดินด้วยกัน หลังจากนั้นเราก็มาสวดมนต์นั่งสมาธิด้วยกันอีกครั้ง ก่อนที่เราจะเข้านอน โชคดี ที่เราไม่ได้นอนห้องเดียวกัน เราต่างมี “ผนังสี่ด้านของตัวเอง” กระนั้นพวกเราก็ยังเจ็บป่วยด้วยกัน
คนแปลกหน้าเหล่านี้ที่ผมเพิ่งได้พบเจอ แบ่งปันความคิด ความเห็น เจตนา การพูดจา การกระทำ การดำเนินชีวิต ความพากเพียร การมีสติ การฝึกสมาธิ ไปในแนวทางที่ทำให้ผมสามารถอาศัยอยู่ด้วยในลักษณะที่เป็นอยู่นี้ได้ นี่ก็เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอริยมรรคมีองค์แปด แต่ก็ใช่ว่าพวกเราจะมีความสุข กลมเกลียว เห็นไปในทางเดียวกัน เข้ากันได้ตลอดเวลา บางครั้งก็รู้สึกเครียด รำคาญ ขัดเคือง ไม่เข้าใจ ท้อแท้ใจ แต่ตอนนี้ได้เห็นแล้วว่า ผมได้อยู่กับท่านเหล่านี้อย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าอยู่กับครอบครัวตัวเอง และนั่นทำให้ผมมีความกล้าหาญ ความเชื่อมั่น ความยินดีพอใจ และมิตรภาพที่แท้จริง
อนาคาริกะ อัลบี้ 23 ตุลาคม
จากพม่าถึงนรเวย์
ในที่สุดแล้วทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง จากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งอื่น… ความจริงอันนิรันดร์ของความไม่เที่ยงแท้—อนิจจัง ได้เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งสำหรับอาตมาในปีนี้ เมื่อกลับจากพม่ามาสวีเดนและโลกตะวันตก ตอนจากไป อาตมาเป็นเพียงผู้ทำสมาธิในช่วงวิกฤตโควิดในประเทศพม่า จนได้เริ่มบทใหม่ในชีวิตพระสงฆ์… จากฆารวาสที่มองหาการปฏิบัติธรรมกรรมฐานอย่างต่อเนื่อง ไปสู่การบวชเป็นพระเพื่อไม่ออกนอกเส้นทางของการปฏิบัติธรรม...
จากการอาศัยอยู่เพียงกับคนพม่า (กระเหรี่ยง) สามปีในประเทศพม่า จนได้มาเข้าร่วมอาศัยอยู่กับคณะสงฆ์นานาชาติจริงๆ ที่ชิปท์เว็ท นอรเวย์ จากการเดินทางไปไกลจากครอบครัวและหมู่มิตร สู่อีกฟากฝั่งของโลก มาเป็นเพียงการข้ามเขตแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน จากการเป็นคนต่างด้าวที่ดูแตกต่าง จากต่างประเทศ มาปะปนอยู่ในหมู่คนพูดภาษาท้องถิ่น “สวอร์ค” … (ภาษาผสมระหว่างสวีเดนกับภาษานอรเวย์) จากการเดินเท้าเปล่าบิณฑบาตรกับพระสงฆ์ 20 รูปบนถนนของเมืองพะอัน มาเดินรูปเดียว สวมรองเท้า ยืนบิณฑบาตรในวันเสาร์หน้าร้าน รีมา 1000 ในเมืองชิปท์เว็ท… จากการสวมหน้ากากอนามัย และเห็นทหารถือปืนลาดตระเวนทุกเช้าเวลาบิณฑบาตร มายังถนนอันสงบเงียบของซิปท์เว็ทที่มีเพียงคุณยายพาสุนัขออกมาเดินเล่น...
จากการได้รับประสบการณ์ตรงของการปฏิวัติ และเผด็จการ กลับมาสู่การมองข้ามความอิสระเสรีว่ามีอยู่โดยพื้นฐาน… จากการอยู่โดยที่ไฟฟ้าดับหลายชั่วโมงต่อวัน มาอยู่ในกุฏิลึกในป่าที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตั้งอยู่บนหลังคา… จากการมีหมาวัดเกือบ 40 ตัวอาศัยอยู่เป็นเพื่อนในวัด มาได้ยินเสียงอันน่าขนลุกของนกกระเรียน และอีกาอยู่ไกลๆ ทั้งยังเห็นเส้นทางเดินของหมาจิ้งจอกในป่าด้วย… จากการมีปัญหากับการย่อยอาหารที่ได้มาจากการบิณฑบาตร มาสู่การฉันอาหารได้แทบทุกอย่าง… (แถมจะฉันมากไปเสียด้วย)
จากการเป็นส่วนหนึ่งของคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ที่มักจะมีอาคันตุกะมาเยือนและมีการบวชพระรูปใหม่จำนวนมาก มาเป็นพระผู้น้อยเพียงรูปเดียว… จากการเข้ากรรมฐานเป็นเวลาหลายเดือน มาสู่การช่วยจัด “กรรมฐานวันเดียว” ให้กับญาติโยมที่ชิปท์เว็ท… จากการมุ่งความสนใจอยู่กับการฝึกสมาธิและธรรมะ มาเพิ่มความเอาใจใส่ต่อการฝึกระเบียบและวินัยสงฆ์กับพระอาจารย์ญาณทัสสโนผู้เป็นอาจารย์… และท้ายสุด… จากการเป็นคนแปลกหน้าที่วัดโลกุตตรวิหารในเดือนมิถุนายน มาสู่การอาศัยอยู่กับเพื่อนสหธรรมิคและความทรงจำที่งดงาม!
ขอบคุณการอุปถัมภ์และความเอื้อเฟื้ออันดียิ่งตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา! ทำให้อาตมารู้สึกคุ้นเคยและ “อบอุ่น” ในการเริ่มต้นการเป็นพระสงฆ์ในตะวันตก ได้พักอาศัยในที่พักพิงที่พิเศษอย่างแท้จริงในใจกลางแสกนดิเนเวียร์
/เมตตา และขอบคุณยิ่ง, ชยธัมม ภิกขุ
“ผู้มีสติย่อมพยายามทำตน ไม่ได้อ้อยอิ่งอยู่ในที่เดียว เหมือนหงส์ที่ละทิ้งทะเลสาบ ทิ้งบ้านหลังแล้วหลังเล่าไว้ข้างหลัง” – คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ 7 เรื่องพระมหากัสสปเถระ
เดาไม่ได้กับสิ่งคาดหวัง
การปรับให้เข้ากับกระแสของชีวิต จากสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะสามารถคาดการณ์ได้ แต่กลับหันทิศทางอย่างกระทันหันไม่ทันได้ตั้งตัว ทัศนคติที่พูดถึงได้ง่ายแต่กลับจดจำยากอย่างน่าเหลือเชื่อ การปรับตัวนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรากลับมาอยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่ว่าเพราะถูกบีบด้วยความทุกข์ หรือจากการพัฒนานิสัยจนคุ้นเคย ถึงกระนั้นการกลับมาอยู่ในปัจจุบันขณะก็แทบจะไม่เพียงพอที่จะขจัดทุกข์ให้พ้นไป — การไม่ยึดถือเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นอัตตาตัวตน ก็จะทำให้เป็นการง่ายที่จะคลายความรู้สึกยึดว่า “นี่ฉัน” และทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นจากความยึดมั่นถือมั่นนั้นๆ
พรรษา 2566 นี้กำลังจะหมดลง ได้ประสบกับการหักเหที่หลากหลาย รู้สึกยินดีกับการ ยอมรับและผ่อนคลาย และรู้สึกขอบคุณกับทุกท่านทุกคนที่ใช้เวลา และโอกาสนี้ร่วมกัน และกับท่านทั้งหลายที่ทำให้โอกาสเหล่านั้นดำรงอยู่ได้
อนุโมทนา!
พระอาจารย์ญาณทัสโน
อุปัฏฐากผู้อารีย์
"เป็นเวลา 6 เดือนแล้วที่มาถึงนอรเวย์ จำได้ว่าเคยได้รับการบอกเล่าจากพระเถระก่อนที่จะมา ว่าวัดที่ชิปท์เว็ทมีการอุปัฐากที่ดีเยี่ยมจากญาติโยมชาวไทย แต่ก็ไม่ทราบว่ามากแค่ไหน จนได้ย้ายมาประจำที่ประเทศนอรดิกส์อันงดงาม
ได้ยินมาว่าการติดต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศนอรเวย์มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เมื่อรัชกาลที่ห้าเสด็จมาเยือนเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีทางการทูต ตั้งแต่นั้นมาก็มีการเจรจาทางการค้า การแลกเปลี่ยนมรดกทางวัฒนธรรม ชายชาวนอรเวย์ได้แต่งงานกับผู้หญิงไทย ปูทางให้คนรุ่นต่อไปได้เจริญรุ่งเรือง
ต้องบอกก่อนว่าโลกุตตรวิหารเป็นวัดที่มีพระไม่มากเมื่อเทียบกับวัดอื่นๆในยุโรป นั่นก็ทำให้การมาวัดของญาติโยมไทยในวันหยุดสุดสัปดาห์ยิ่งน่าประทับใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความเข้าใจของญาติโยมในการอุปัฐากพระเณรและในการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาก็ยากจะหาใครเทียบได้ ซึ่งทำให้วัดนี้เป็นที่อบอุ่นยิ่งในการที่พระเณรจะมาพักอาศัย
ที่น่าประทับใจยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อได้ทราบว่าหลายท่านมาจากครอบครัวธรรมดาๆ บางคนเป็นพนักงานทำความสะอาด เป็นผู้ช่วยพยาบาล เป็นพนักงานในร้านอาหาร ฯลฯ แต่เขาจะแบ่งปันสิ่งที่เขามี เพื่อถวายให้พระเณร เพราะทราบว่าพระเณรไม่ได้มีทางอื่นที่จะเลี้ยงดูตัวเอง เนื่องจากปฏิบัติตามภิกขาจารวัตรที่พระพุทธเจ้าได้วางไว้มาเป็นเวลากว่า 2500 ปีแล้ว สิ่งที่พวกเราพยายามทำก็คือคืนความเป็นมงคลจากธรรมะให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นการสอนธรรมะ สวดมนต์ให้พร หรือจากการปฏิบัติสมาธิภาวนา
แหล่งที่มาอีกแหล่งของทานอันดียิ่งก็คือจากเพื่อนบ้าน โดยปกติแล้ววัดในต่างประเทศมักจะไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน แต่ในนอรเวย์จะแตกต่างอยู่มาก เพื่อนบ้านของเรา ฮาโรลด์ และแม่ ได้ช่วยวัดในหลายๆ เรื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาได้ถวายอาหาร ขับรถให้พระไปที่ต่างๆ และยังช่วยไม่ให้เราต้องติดอยู่กลางถนนเพราะรถยางแบน พวกเขาปฏิบัติพุทธศาสนามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และเป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขาได้นำหลักธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ถนนถัดออกไปมี คุณฮาโรลด์ อาวุโส และภรรยาอาศัยอยู่ที่นั่น (เขาไม่ได้เป็นญาติหรือเกี่ยวข้องกันกับฮาโรลด์คนก่อน) สามีภรรยาคู่นี้เคยทำการเกษตร ตอนนี้ลูกสาวและสามีของเธอดูแลสัตว์และป่าไม้ ฮาโรลด์ อาวุโส และภรรยาไม่ได้ร่วมศาสนาใดๆ การปฏิบัติของพวกเขาก็เพียงแค่เป็นคนใจดี เขามาช่วยโกยหิมะออกจากทางในช่วงหน้าหนาว (พายุหิมะทำให้ขับรถเข้ามาวัดลำบาก) และได้ให้เศษไม้สับเพื่อโรยทางเดินในป่าให้เสมอ ซึ่งเป็นที่ยินดียิ่งสำหรับผู้ทำสมาธิภาวนา
นอกจากนี้ ยังมีฟาร์มโคนมห่างจากวัดไปประมาณ 5 นาทีโดยรถยนต์ เขาบริจาคนมสดทุกๆ อาทิตย์
ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “คนเหล่านี้ช่างใจดีเสียจริง”
ความมีน้ำใจของญาติโยมมีให้กล่าวถึงอีกมากมาย แต่รู้สึกว่าบทความนี้ก็ยาวพอควรแล้ว
ขอให้ท่านผู้อ่านได้ประสบกับพรอันประเสริฐ ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และให้ได้บรรลุพระนิพพานในชาตินี้เทอญ"
สามเณรโชติปัญโญ
หลากหลายกิจกรรมในพรรษา
การอยู่กันเป็นหมู่คณะ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องการการใส่ใจดูแล บางครั้งหากเราเป็นคนที่เก่งในบางเรื่องหรือประสบความสำเร็จในบางส่วนของชีวิตก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรารู้หรือว่าทำสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าคนอื่นๆ ซึ่งก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่คนเรามีเพียงแค่สองมือไม่สามารถทำอะไรทุกอย่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือด้วยความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากหมู่คณะ
เป็นเพราะการนับวันในการเดินทางพลาดไปทำให้เป็นปัญหาการเดินทางกลับ จึงไม่สามารถจำพรรษาที่วัดของเราอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ แต่เพราะการช่วยเหลือจากคณะสงฆ์ เพื่อนสหธรรมิคและญาติโยมสิ่งต่างๆ ก็เลยเป็นไปได้ด้วยดี พระอาจารย์ญาณทัสโน นำประกอบพิธีอาสาฬหบูชา เพื่อกำหนดหมายการเริ่มของการเข้าพรรษา ตามด้วยการเริ่ม “กรรมฐานหนึ่งวัน” ขึ้นอีกในวันสุดสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายนซึ่งท่านตุลย์ และท่านอาทิจโจ จากวัดอมราวดีได้มาช่วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศนอรเวย์ (UDI) ได้อนุมัติวีซ่าให้อาตมาตอนกลางเดือนกันยายน แต่ยังต้องรอการ์ดไบโอเมตริกซ์ก็เลยไม่แน่ใจว่าจะเดินทางมาร่วมกิจกรรมของวัดเราได้หรือไม่
ที่วัดมี “งานจิตอาสา” ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่สามของเดือน ซึ่งมีหลายคนได้มาช่วยตัดไม้ไว้ทำฟืน และเช่นเคย มีศรัทธาทำโรงทานนำอาหารมาต้อนรับ —ทั้งงานปฏิบัติธรรมและงานจิตอาสา วันอาทิตย์ก่อนหน้านั้น ญาติโยมยังได้เช่าหอประชุมของเทศบาลจัดตลาดนัดอาหารไทย เพื่อให้เพื่อนบ้านได้เกิดความรู้สึกอยากทำความรู้จักวัด ทั้งยังได้ปัจจัยมาทำบุญด้วย
เดือนตุลาคม อาตมาได้เดินทางมาร่วม “กรรมฐานหนึ่งวัน” ครั้งที่สองซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับพิธีฉลองพระชนมายุ 96 พรรษาของสมเด็จพระสังฆราช โดยจัดร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย มาถึงตอนนี้เราพอจะทราบว่ามีอะไรที่จะปรับการจัดกรรมฐานหนึ่งวันให้ดีขึ้นได้บ้าง ก็เลยได้ความคิดว่าน่าจะมีการจัดเป็นภาษาไทยบ้าง ซึ่งได้ทดลองจัดเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ตามด้วยการตักบาตรเทโว ในวันออกพรรษา วันต่อมาหิมะตกหนักเป็นครั้งแรกของปี เป็นการยืนยันว่าหน้าหนาวมาถึงแล้ว
คณะสงฆ์ได้แบ่งห้องน้ำชั้นบนของอาคารหลัก เพิ่มให้มีห้องส้วม ห้องอาบน้ำ และที่ล้างบาตร เพื่อยกห้องน้ำชั้นล่างให้ญาติโยมได้ใช้ และด้วยความเห็นชอบจากการประชุมของคณะกรรมการ ทางวัดกำลังศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการติดตั้งห้องส้วมในที่พักโยมผู้หญิง เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ญาติโยมเวลามาพักที่วัด
นับว่าเป็นพรรษาที่มีกิจกรรมเยอะทีเดียว ที่สามารถดำเนินลุล่วงไปได้ก็เพราะกุศลจิตของคนใจดีหลายๆ คน ที่ช่วยร่วมแรงร่วมใจ ให้เครื่องไม้เครื่องมือ เวลา และทุนทรัพย์ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเล็กเหมือนกับกิจกรรมที่เราจัดขึ้น เมื่อกิจอันเป็นกุศล —ทาน ศีล ภาวนา—ให้ผลเป็นความรู้สึกอิ่มใจ มีความสุขในใจของแต่ละคน ทำให้เรามั่นใจว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถปฎิบัติได้และเห็นผลได้ในปัจจุบัน เราก็จะสนับสนุนซึ่งกันและกันให้ประพฤติปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้น อย่างน้อยก็เริ่มด้วยความคิด คำพูด การกระทำที่ประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อคนใกล้ชิด ที่บ้านหรือที่วัดเสียก่อน แล้วถึงค่อยคิดถึงการที่ขยายขอบเขตออกไปข้างนอก
พระอาจารย์คงฤทธิ์